ต้นรักใหญ่ (ต้นน้ำเกลี้ยง) ต้นไม้มีพิษ ที่ยางมีประโยชน์มากมาย และมีผลที่บินได้!

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 13 ก.พ. 2024
  • มากกว่า 9,000 ปี มนุษย์ได้ใช้ยางของต้นรักใหญ่ มาเคลือบภาชนะที่ทำจากไม้ให้คงทนและกันน้ำได้ สีดำของยางรักนี้อยู่คู่กับศิลปะไทยมานานแสนนาน จาก ลงรักปิดทอง เครื่องเขิน ลงรักประดับมุก... ความรุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยาส่วนหนึ่งก็มาจากการส่งออกยางรักไปยังต่างประเทศ... ยางรักนี้มาจากต้นไม้ในป่าเต็งรัง ที่พบเจอมากในภาคเหนือและภาคอีสาน ต้นรักเป็นต้นไม้มีพิษร้ายแรง จากน้ำยางสด ผล และ ขนบนใบแก่ คนที่แพ้จะปวดแสบปวดร้อนมากๆ... แต่ต้นไม้จะมีผลที่เป็นพิษไปทำไม ผลที่สัตว์กินไม่ได้?
    คำตอบก็คือ ต้นรักไม่ได้ง้อสัตว์ในการแพร่พันธุ์ เขาเลือกที่จะแพร่พันธุ์โดยลม และสร้าง 'ผลที่บินได้'
    ผลของต้นรักนั้นมีปีกสีแดง เราเรียกผลแบบนี้ว่าผลติดปีก (Winged Seeds) ที่ทำให้เขาสามารถปลิวไปตามลมแล้วหมุนติ้วคล้ายกับเฮลิคอปเตอร์ บินไปหล่นได้ไกลต้นแม่ (ดู Clip)
    คนชอบเข้าใจผิดคิดว่า ปีกผลสีแดงนี่คือดอก
    แต่จริงๆแล้วดอกของต้นรักใหญ่เป็นสีขาวมีขนาดเล็ก ออกเป็นพุ่มๆ ในตอนปลายปี จากนั้นไม่นาน พอตอนต้นปี ต้นรักก็จะออกผล เราก็จะเริ่มเห็นปีกผลสีแดงของต้นรักใหญ่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นป่า
    พืชที่มีผลหรือเมล็ดติดปีกแบบนี้ เราจะพบเจอเยอะในป่าเต็งรัง ที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ที่ที่มีสัตว์น้อย
    พืชพวกนี้ จะมีลำต้นที่สูงมาก และมีผลที่ปลิวไปตามลมได้ มีการออกแบบ 'ปีก' ที่หลากหลาย ที่มีวิธีบินที่แตกต่างกันไป
    ส่วนยางรักนั้นหลังจากนำมาผ่านความร้อน พิษก็จะหายไป ยางรักในไทยนั้นมีสีดำ แต่ยางรักในธรรมชาตินั้นมีหลายสี จาก สีใส ไปยัง น้ำตาล
    เช่นยางรักจีนมีสีใส คนทำงานศิลปะในจีนก็จะเอาแร่ธาตุอื่นๆมาผสมกับยางรักเพื่อเปลี่ยนสี ซึ่งเราจะเห็นในงานเครื่องเขินของจีนกับญี่ปุ่นที่จะมีหลายหลากสีไม่ใช่แค่สีดำ
    อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงเข้าใจว่ายางรักนั้นมีประโยชน์มากๆแก่คนโบราณ เป็นกาวชั้นเลิศ เป็น ตัวเคลือบชั้นยอด ที่ทนปลวก กันน้ำ แข็งแกร่ง ทนความร้อนและไม่ติดไฟ นอกจากภาชนะ คนโบราณยังใช้ยางรักเคลือบบางส่วนของรถม้า เคลือบโล่ เคลือบเชือกที่ผูกติดหัวลูกศร, หัวลูกดอก กับไม้ เคลือบฝักดาบ
    คนไทยใช้ทำหัวโขน เรือพระที่นั่ง ติดกระจกประดับตามงานไม้ในวัดวาอารามแต่ก่อน... อารยธรรมของมนุษย์สร้างขึ้นมาด้วยยางรัก
    ดังนั้นต้นรักแม้จะมีพิษ แต่ก็เต็มไปด้วยประโยชน์
    และสำหรับคนที่แพ้ต้นรัก มีคนบอกว่า วิธีแก้พิษยางรักคือการใช้น้ำที่ต้มใบสะเดา มาอาบน้ำ สระผม จะล้างพิษได้ จึงหรือไม่ผมบอกไม่ได้ เพราะไม่ได้แพ้
    คนที่อ่านอาจจะมีคำถามในใจถึงดอกรัก ที่เอามาร้อยมาลัย อันนั้นเป็นไม้พุ่ม เรียกว่าต้นดอกรัก ยางก็เป็นพิษเช่นกัน แต่ไม่ได้รุนแรงเหมือนต้นรักใหญ่
    เขามีเมล็ดพันธุ์ที่ปลิวไปตามลมเช่นกัน แต่จะออกมาเป็นฝัก คล้ายๆนุ่น ต้นกำเนิดมาจากอินเดียแต่ในอินเดียเขาเป็นวัชพืช ในไทยนำมาทำมาลัยดันกลายเป็นของสูง งดงาม มีค่า
    ผมมาเรียนรู้เกี่ยวกับต้นรักใหญ่จากการไปเดินป่ากับผู้เชี่ยวชาญ สิ่งแรกที่เข้าใจคือมีคนจำนวนค่อนข้างมากแพ้ต้นไม้ต้นนี้ ทีแรกก็รู้สึกเกลียดชังมัน แต่พอมาเข้าใจถึงประโยชน์ของยางรัก ก็ทำให้รู้สึกทึ่งกับความสำคัญของเขา โดยเฉพาะในเชียงใหม่ที่เราเคยเป็นจุดเก็บยางรักที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และ คนไทยเขิน (จากเชียงตุง) ที่มาอยู่ในเชียงใหม่ช่วยเผยแผ่การเครื่องเขินให้กระจายไปทั่วไทยและพม่า ก็อดที่จะหลงรักเจ้าต้นไม้มีพิษต้นนี้ไม่ได้ ❤️
    ชื่อ: ต้นรักใหญ่, ต้นน้ำเกลี้ยง, Burmese Lacquer tree ชื่อวิทยาศาสตร์: Gluta usitata (Wall.) Ding Hou (Anacardiaceae วงศ์ มะม่วง มะม่วงหิมพานต์)
    Refs:
    www.silpa-mag.com/history/art...
    www.thailandfoundation.or.th/...
    apps.phar.ubu.ac.th/phargarde...
    th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B...
    th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B...
    #enwcm_plants

ความคิดเห็น •