วิธีการทำปุ๋ยหมักวิศวกรรมแม่โจ้ในวงตาข่าย How to make compost in a trellis.

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 8 ก.พ. 2025
  • การทำปุ๋ยหมักวิศวกรรมแม่โจ้ แบบไม่พลิกในวงตาข่าย เข่ง หรือตะกร้า ใช้เวลา 2 เดือนเสร็จ จึงนำไปใช้ได้
    1 : ให้หาซื้อตาข่ายไนล่อน หรือตาข่ายเหล็ก หรือเหล็กชุบไวนิล จากร้านวัสดุก่อสร้าง ถ้าซื้อมาสัก 3 เมตร ราคาประมาณ 100-150 บาท ก็จะทำวงเส้นผ่านศูนย์กลางได้ประมาณ 1 เมตร วงกว้างขนาดนี้จะไม่ล้มเอียงครับ ...... จะทำวงกว้างกว่านี้ก็กลัวอากาศเข้าได้ไม่ทั่วถึง ...... ถ้าไม่อยากเสียเงินก็ใช้ไม้หลักปักห่าง ๆ ทำเป็นคอกโปร่งก็ได้ครับ เส้นผ่านศูนย์กลางไม่ควรกว้างกว่า 1-1.2 ม.
    2 : วางเศษพืชสลับกับมูลสัตว์เป็นชั้น ๆ ลงไป ในสัดส่วนใบไม้ต่อมูลสัตว์ 3 ต่อ 1 แต่ถ้าเป็นฟาง เปลือกทุเรียนหั่น หรือหญ้าก็ 4 ต่อ 1 ....... ผักตบหั่น ต้นกล้วยหั่น 6 ต่อ 1 ..... ใบไม้สดจะเปื่อยง่ายดี ..... มูลสัตว์ใช้อะไรก็ได้ ขี้วัวแห้งเหมาะสุดเพราะไม่มีกลิ่น .... ขี้ไก่ขี้หมูมักมีแมลงวันตอมและมีกลิ่นหน่อย แต่ให้ N สูงดี
    วางเศษพืชหนาชั้นละ 5-10 ซม. โรยทับด้วยมูลสัตว์ในสัดส่วนที่กำหนด #แล้วรดน้ำ .... อย่างเช่น ถ้าใส่ใบไม้ 3 กะละมัง ก็โรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 กะละมัง (เพื่อให้เป็นสัดส่วน 3 ต่อ 1 โดยปริมาตร ถ้าเป็นหญ้า หรือฟาง ก็ 4 ต่อ 1) แล้วรดน้ำ ..... การวางเศษพืชให้วางเบา ๆ ไม่ทำให้แน่น .... ใช้ไม้เขี่ย ๆ ให้ได้ระดับเสมอกัน
    ถ้าเผลอทำชั้นเศษพืชหนาเกินไป ก็แค่เอาไม้หรือจอบเขี่ย ๆ ให้มูลสัตว์เข้าผสมกันกับเศษพืชในชั้นนั้นก็ได้ครับ #แล้วรดน้ำ
    3 : ทำเป็นชั้น ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนเศษพืชหมด หรือเต็มวง .... #รดน้ำทุกชั้น ...... เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร (ไม่เอาน้ำแกง) ก็สามารถวางสลับระหว่างชั้นพวกนี้ได้ .... เปลือกผลไม้พวกขนุน สับปะรด ให้หั่นให้เป็นชิ้นเล็กลงบ้างก่อนนะครับ โดยใช้สัดส่วน เปลือกผลไม้หรือเศษผัก 1-1.5 ส่วน วางกลาง ๆ ให้ห่างขอบ อย่าให้โผล่ .... ทับด้วยใบไม้ 1-1.5 ส่วน ตามด้วยขี้วัว 1 ส่วน แล้วรดน้ำ ทำเป็นชั้น ๆ ไปครับ
    ใครมีอึน้องหมา น้องแมว ก็เอาไปยัด ๆ ไว้ข้างในได้ รับรองไม่มีกลิ่นครับ
    4 : วิธีดูแลน้ำตลอด 2 เดือนคือ รดน้ำภายนอกรอบ ๆ ทุกวัน หรือวันเว้นวันก็ได้ ...... แล้วทุก 7-10 วันก็ให้เหล็กแหลมสัก 3-4 หุน มาเจาะที่ด้านบน เจาะลงแนวดิ่งให้ถึงพื้น ระยะห่างแต่ละรูสัก 10-20 ซม. แล้วกรอกน้ำลงไป ใช้เวลาเติมน้ำแต่ละรูไม่เกิน 5-10 วินาที เพื่อไม่ให้น้ำนองออกมามากเกินไป ....... เสร็จแล้วปิดรู เพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนในกองปุ๋ยครับ …… การเอาออกมาคลุกสักรอบช่วง 30 วัน จะแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยอัดตัวแน่น หรือความชื้นไม่เพียงพอได้ครับ
    5 : การทำปุ๋ยหมักแบบนี้สามารถเติมได้เรื่อย ๆ .... ถ้าเติมไม่เกิน 10 วัน ก็ถือว่าเสร็จได้ใน 60 วัน โดยวันแล้วเสร็จไม่ขยายออกไป ..... ถ้าเติมเรื่อย ๆ ไม่หยุด ก็จะนับวันที่ 1 เมื่อหยุดเติมครับ แล้วบวกไปอีก 50 วัน
    6 : พอครบ 2 เดือน มันจะยุบเหลือ 1-2 คืบ ....... ก็แกะวงตาข่ายออก ทั้งหมดในวงก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมักครับ ส่วนที่อยู่ขอบ ๆ และพื้นอาจจะไม่เปื่อย เป็นปกติครับ ..... ทำให้ปุ๋ยหมักแห้งก่อนใช้ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่กำลังแฮปปี้กับการย่อยสลายเศษพืชสงบตัว ไม่ไปเป็นอันตรายต่อรากพืชของเราครับ ..... ทำให้แห้งแต่ไม่ต้องถึงกับให้แห้งสนิทกลางแดด ..... ใบไม้บางส่วนที่ดำ ๆ ดูเหมือนจะไม่เปื่อย แต่พอแห้งก็จะแตก กรอบ ป่นลงไปอีกครับ ..... ใบไม้ที่อยู่ด้านบน และขอบ ๆ ด้านข้างที่ไม่เปื่อย ก็เพียงแต่แยกออก แล้วเก็บไว้เตรียมทำปุ๋ยหมักรอบต่อไป
    การที่ใช้ตาข่ายก็เพื่อให้มีอากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้าไปข้างใน .... ห้ามทำให้กองปุ๋ยแน่น เพราะถ้าแน่น อากาศจะไหลเวียนเข้าไปไม่ได้ การเป็นปุ๋ยหมักก็จะช้า .... การที่ให้ดูแลน้ำตามที่กำหนด เพราะถ้าขาดน้ำ จุลินทรีย์ก็จะยุติการทำงานครับ .... ถ้ากองปุ๋ยหมักแห้ง อย่าว่าแต่ 2 เดือนเลยครับ ต่อให้อีก 20 เดือนก็ไม่มีวันเปื่อยเป็นปุ๋ยหมักครับ
    กองปุ๋ยหมักในวงตาข่ายแบบนี้วางกลางแดด ตากฝนได้ เพราะฝนไม่มีวันซึมเข้ากองปุ๋ยครับ .... และถึงจะมีฝนตกหนักหลายวัน ถ้าครบ 7-10 วัน ก็ยังต้องฝ่าฝน กางร่ม ไปเจาะกรอกน้ำอยู่นะครับ .... เราเตือนท่านแล้ว ..... จากประสบการณ์ 19 ปีของการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองของจารย์ลุงจ้า
    วิธีนี้ย่อส่วนมาจากการทำปุ๋ยหมักกองใหญ่รูปสามเหลี่ยมที่กองยาว ๆ ครับ
    กองปุ๋ยหมักวงตาข่ายถ้าจะวางใกล้ต้นไม้ ควรห่างจากโคนอย่างน้อย 1.5-2 ม.นะครับ ..... อย่าให้น้ำที่ซึมจากกองปุ๋ยไหลไปหาโคน เพราะต้นไม้อาจสำลักธาตุอาหารตายได้ครับ
    การทำปุ๋ยหมักของจารย์ลุง ไม่แนะนำให้ใส่น้ำหมัก น้ำจุลินทรีย์ที่เป็นกรดครับ เพราะจะไปยับยั้งการทำงานของน้องจุลในกองปุ๋ยได้ ..... และใครที่จะทำปุ๋ยหมักขาย การใส่น้ำหมักจะทำให้ค่าการย่อยสลายสมบูรณ์และค่าการนำไฟฟ้าไม่ผ่านค่ามาตรฐานด้วยครับ
    อะไรที่เป็นของดี เช่น ไตรโคเดอร์มา หรือปุ๋ยเคมี ให้เอาใส่ในปุ๋ยหมักที่ทำเสร็จแล้ว แห้งแล้ว ก่อนบรรจุกระสอบจะดีกว่าครับ ... ขืนใส่ไปในกองปุ๋ย น้องจุลจะไปจัดการหมดครับ
    ใครจะประยุกต์ขึ้นไปอีก โดยการแกะวงตาข่ายออกทุก 5 วัน แล้วพลิกผสม รดน้ำ แล้วเอากลับเข้าวง ..... แบบนี้เราก็ไม่ต้องดูแลน้ำอย่างที่กำหนดไว้ข้างบนเลยครับ ไปรดน้ำตอนแกะพลิกผสม .... การทำแบบนี้จะทำให้เสร็จภายใน 35 วันครับ และเป็นปุ๋ยหมักสวย ๆ ได้ทุกส่วนเพราะได้รับออกซิเจนจากการพลิกผสม (เป็นการทำแบบที่ 5 ครับ)
    ใครจะหาไม้หลักมาตอกรอบ ๆ แทนการใช้ตาข่าย แบบนี้ก็ได้เหมือนกันครับ เพราะอากาศก็เข้าไปได้ และประหยัดดี
    เพื่อน ๆ อาจย่อส่วนลงไปอีก เอาไปทำในเข่ง หรือตะกร้าผ้าก็ได้ครับ ที่มีรูด้านข้าง .... เอาหลบฝนไว้ใต้ชายคา ... ก็จะให้ปุ๋ยหมักมีคุณภาพเท่ากับที่ทำในวงตาข่าย หรือแบบกองใหญ่เหมือนกัน
    วิธีนี้ไม่เคยมีกลิ่นครับ ถ้ามีแต่เศษพืชและขี้วัว เพราะเป็นการย่อยสลายทางชีวภาพแบบใช้ออกซิเจนครับ (Aerobic Decomposition) ที่สร้างกลิ่นไม่เป็น
    ที่มา : กลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ การทำปุ๋ยหมักวิศวกรรมแม่โจ้ อจล.Teerapong Sawangpan
    #เกษตรกรมือใหม่ #วิธีทำปุ๋ยหมัก #ปุ๋ยหมัก #เกษตรกร #สวนหลังบ้าน #agriculture #agro #farmer #farming #farm #garden

ความคิดเห็น •

  • @MokaDad
    @MokaDad  ปีที่แล้ว

    ขอบคุณที่เข้ามารับชมครับ Thank you for coming to view.