วัดป่าภูมาศ

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 5 มิ.ย. 2021
  • ประวัติวัดป่าภูมาศ
    ความพยายามครั้งที่ ๑ ราวปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดระยอง ได้มีกุศลจิตศรัทธาตั้งใจจะสร้างวัดอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา ณ จังหวัดระยอง เพื่อเป็นวัดป่ากรรมฐาน แต่ในระยะแรกยังหาที่ดินไม่ได้จึงยังไม่ได้ข้อสรุป
    ความพยายามครั้งที่ ๒ ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ อันเป็นปีพุทธชยันตี ครบรอบ ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ญาติโยมได้ช่วยกันหาที่สร้างวัดอีกครั้งและได้เห็นว่าบริเวณชายเขาตะแบก ตรงข้ามเขาวังม่าน จังหวัดระยอง เป็นสถานที่สัปปายะมีป่าที่งดงามสงบแต่ก็ยังไม่ได้ทำการสร้างวัด
    ความพยายามครั้งที่ ๓ จวบจนวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พระมหาศิรัส ปสนฺนจิตฺโต เดินทางกลับจากปฏิบัติธรรม ณ ประเทศเมียนม่า จึงพยายามตามหาสถานที่แห่งใหม่ที่เหมาะสมต่อไปและในวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ก็ได้มาพบที่ดินบริเวณบ้านหินดาษด้านหลังเขางวงช้าง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ใกล้เขาช่องสลอด ว่าเป็นสถานที่ที่สัปปายะ เมื่อพระมหาศิรัสพิจารณาก็เห็นว่าเป็นที่สมควรแก่การภาวนา จึงได้เข้ากราบปรึกษาพระเดชพระคุณ พระเทพปริยัติมงคล (หลวงปู่โอภาส โอภาโส) แห่งวัดจองคำ (พระอารามหลวง) จังหวัดลำปาง ท่านเห็นสมควรให้สร้างเป็นวัดขึ้นและแล้วการเริ่มสร้างวัดจึงค่อยๆเกิดขึ้น จากศรัทธาญาติโยมที่ช่วยกันสร้างเสนาสนะอันเหมาะสมขึ้น เริ่มจากศาลาหลังเล็ก บริเวณชายเขาเป็นลำดับแรก หลวงปู่โอภาส เมตตาตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดป่าภูมาศ” โดยคำว่า “ภู” หมายถึง แผ่นดินหรือภูเขา ส่วนคำว่า “มาศ” แปลว่าทองคำ รวมความว่า วัดป่าภูเขาทอง นั่นเอง
    พรรษาแรก (พ.ศ.๒๕๕๗) ที่พักสงฆ์ภูมาศมีพระภิกษุจำพรรษา ๓ รูป โดยมีศาลาหลังเล็ก ๑ หลัง(ศาลาสาธุการพระโพธิญาณอนันตคุณ) และกุฏิแบบชั่วคราว ส่วนเสนาสนะอื่นๆ ทยอยสร้างเพิ่มตามเหตุปัจจัยในกาลต่อมา
    พระประธานองค์ในศาลาสาธุการพระโพธิญาณอนันตคุณได้ทำการหล่อองค์พระ ในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยจำลองรูปแบบมาจากหลวงพ่อขาวอันเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนที่ได้มาจากเมืองมัณฑะเลย์ประเทศเมียนม่า ส่วนศาลาสาธุการพระโพธิญาณอนันตคุณ นั้น แต่เดิมเป็นศาลาหลังเล็กมีความยาว ๙ เมตร ต่อมาได้เพิ่มเติมปรับปรุงหลายครั้งจนเป็นรูปแบบในปัจจุบัน ซึ่งส่วนของศาลาดั้งเดิมยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่
    การสร้างเสนาสนะในระยะแรก ได้ความอนุเคราะห์วัสดุเหลือใช้จากท่านผู้ใจบุญผู้มีจิตศรัทธาหลายท่าน เช่น ไม้เก่า หน้าต่างเก่า ประตูเก่า หลังคาเก่า เป็นต้น ทั้งหมดได้นำมาดัดแปลงใช้ในการก่อสร้างเป็นศาลาหลังแรก กุฏิ และ โรงครัวได้อย่างลงตัวกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี เน้นความเรียบง่าย ประโยชน์ใช้สอยอย่างคุ้มค่า
    ข้อวัตรของพระภิกษุสงฆ์ กล่าวโดยย่อ คือ ระฆังดังตีสาม นั่งสมาธิที่ศาลา เวลาตีสี่เริ่มสวดมนต์ทำวัตรเช้าและนั่งภาวนา เวลาตีห้าครึ่งจัดศาลา เตรียมบิณฑบาต เวลาหกโมงเช้าจนถึงเจ็ดโมงเช้าพระภิกษุออกบิณฑบาต จากนั้นเวลาแปดโมงเช้าพระภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหาร(ฉันมื้อเดียว) เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วท่านจะนำบาตรไปล้างและกลับกุฏิ ทำกิจส่วนตัว ทำความเพียร ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จากนั้นจึงออกมาทำกิจส่วนรวมในเวลาบ่ายสามโมง มีการกวาดลานวัดเป็นต้น ในเวลาสี่โมงเย็นจะเป็นเวลาฉันน้ำปานะ หลังจากนั้นเวลาหนึ่งทุ่มคือ ช่วงทำวัตรเย็น ซึ่งทุกวันโกนจะมีการซักย้อมจีวรด้วยน้ำต้มแก่นขนุนหรือน้ำย้อมฝาดเป็นประจำ
    ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างที่พักสงฆ์ภูมาศเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ จนมาเป็น สำนักสงฆ์ภูมาศ ปีพ.ศ.๒๕๕๘และได้จัดตั้งเป็นวัดป่าภูมาศ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ โดยลำดับ สถานที่สัปปายะแห่งนี้ ได้รับความเมตตาจากพระเถรานุเถระมาแสดงธรรมโปรดโดยตลอด กับทั้งพุทธศาสนิกชนผู้มาปฏิบัติธรรมก็ให้ความร่วมมือรักษาความสงบของวัดด้วยดีตลอดมาอันเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง
    ความเป็นวัดที่แท้จริงจึงมิใช่อยู่ที่เสนาสนะ ถาวรวัตถุใดๆที่เห็นได้ด้วยตาไม่ วัตถุเหล่านั้นเป็นแต่เพียงเครื่องเอื้ออำนวยประโยชน์แก่การปฏิบัติธรรมให้ถึงความสงบ พ้นทุกข์ อันหมายถึง วัดภายในอันทุกคนจะพึงสร้างได้ในใจตน นั่นเอง
    ขอความสวัสดีในการปฏิบัติธรรมจงบังเกิดมีแก่ทุกท่านผู้มุ่งสร้างจิตใจที่มีค่าประดุจภูเขาทองคำสมดังนาม “วัดป่าภูมาศ” เทอญ
    ขออนุโมทนา

ความคิดเห็น • 4

  • @user-ev3ty8vm6g
    @user-ev3ty8vm6g 9 หลายเดือนก่อน +1

    สาธุ

  • @dangpewbang239
    @dangpewbang239 ปีที่แล้ว +1

    สาธุๆๆได้ไปครั้งอาทิตย์ที่แล้วมีความสุขมากที่สุดคือชอบบัญยากาศสงบเงียบยากไปปติบัตธรรมถ้ามีโอกาสสาธุๆๆค่ะ

  • @nukunirpc
    @nukunirpc 2 ปีที่แล้ว +1

    สาธุ...สาธุ...สาธุ...

  • @pim_pennapa8170
    @pim_pennapa8170 2 ปีที่แล้ว +1

    สาธุ สาธุ