วงเครื่องสายพระยาภูมีเสวิน เพลงสามเส้า

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 9 ก.ย. 2024
  • วงเครื่องสายพระยาภูมีเสวิน
    บันทึกภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
    ประวัติและข้อมูลพอมีดังนี้
    ครูจะเข้ลูกศิษย์ของหลวงว่องจะเข้รับที่มีชื่อเสียงมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมาอีกท่านนอกจากครูจ่าง แสงดาวเด่น ก็คือ ครูละเมียด จิตตเสวี นามสกุลเดิม สวนรัตน์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๗ (อายุอ่อนกว่าครูแอบ ๔ ปี) ครูละเมียดเป็นบุตรีของครูเปรม ซึ่งเป็นครูเครื่องสายและช่างทำจะเข้ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ ๖ จะเข้ของดุริยบรรณในรุ่นแรกๆนั้นล้วนเป็นฝีมือการสร้างของครูเปรมเกือบทั้งนั้น ครูละเมียดได้เรียนดนตรีเบื้องต้นจากบิดาของท่าน จนถึงอายุ ๙ ขวบ ครูเปรมจึงได้ไปเชิญหลวงว่องจะเข้รับ (ขณะนั้นยังเป็นนายโตมหาดเล็ก) มาสอนจะเข้ให้ จนกระทั่งครูละเมียดมีฝีมือจัดและสามารถบรรเลงรวมวงกับนักดนตรีในละแวกแถวบ้านของท่าน เช่น หลวงไพเราะเสียงซอ ครูปลั่ง ครูไปล่ วนเขจร ครูเตียง ธนโกเศศ ตลอดจนครูแอบ ยุวนวณิชย์ ผู้เป็นเพื่อนกันมาแต่เยาว์วัย
    เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ท่านก็ได้แต่งงานกับขุนสนิทบรรเลงการ (จง จิตตเสวี) น้องชายของพระยาภูมีเสวิน จึงได้มีโอกาสร่วมวงดนตรีอยู่กับเจ้าคุณภูมีเสวินอีกด้วย ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๓ บริษัท Fox Movies ได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย และได้บันทึกการแสดงดนตรีของไทยในขณะนั้นเป็นหนังสั้นราว ๑๐ นาที มีการบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์และวงเครื่องสาย
    ในคลิปที่ตัดมาให้ดูนั้นเป็นการบรรเลงวงเครื่องสายในเพลงสามเส้า ๒ ชั้น โดยมีนักดนตรีเท่าที่พอสืบค้นได้มี ดังนี้
    ซอสามสาย พระยาภูมีเสวิน
    จะเข้ นางสนิทบรรเลงการ
    ซอด้วง ละม่อม ดูรยชีวิน
    ซออู้ ช่อ สุนทรวาทิน
    ขลุ่ย เทียบ คงลายทอง
    โทน-รำมะนา มิ ทรัพย์เย็น
    คนฉิ่ง ไม่ทราบชื่อ
    ข้อมูลใหม่ สืบค้นเมื่อ 21/05/2565
    นักร้อง นางท้วม ประสิทธิกุล
    ครูละเมียดไม่ได้รับราชการอยู่ในวงหลวงมาเลยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ และ รัชกาลที่ ๗ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีการตั้งกองการสังคีต กรมศิลปากร แล้วครูจึงได้มาสมัครเข้ารับราชการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ (สมัยรัชกาลที่ ๘) และได้กลายมาเป็นนักดนตรีและครูคนสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของเครื่องสายโดยเฉพาะจะเข้ของกรมศิลปากร ท่านเป็นผู้คิดประดิษฐ์เพลงเดี่ยวจะเข้ต่างๆโดยเฉพาะทางเดี่ยวลาวแพนที่ใช้ประกอบการแสดงของกรมศิลปากรจนกลายมาเป็นมาตรฐานของการเดี่ยวจะเข้ประกอบการฟ้อนแพนในปัจจุบัน ครูละเมียดรับราชการในกรมศิลปากรมาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการแล้วก็ยังไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่วิทยาลัยนาฎศิลป์จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๑๖ นอกจากผลงานการบรรเลงในแผ่นเสียงต่างๆทั้งของห้าง ต.เง็กชวน แผ่นเสียงกรมศิลปากร คณะยอดศิลปินของหลวงไพเราะเสียงซอ คณะพาทยโกศล คณะสิทธิถาวรของครูประสิทธิ์ ถาวร ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วน ครูก็ยังฝากผลงานไว้กับการสอนลูกศิษย์ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ในยุคแรกๆโดยท่านจะสอนซอเป็นหลัก และให้ครูทองดี สุจริตกุลสอนจะเข้ เว้นแต่จะมีลูกศิษย์บางคนที่จะมาขอต่อเพลงเดี่ยวกับท่านเมื่อมีฝีมือมากขึ้นแล้ว แม้ผมจะไม่เคยได้พบหรือเรียนกับครูละเมียดโดยตรงในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ผมก็นับถือว่าท่านเป็นครูคนหนึ่งและเป็นต้นแบบการดีดจะเข้ให้กับผมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อครั้งผมอยากดีดเพลงลาวแพนครูแอบก็บอกให้ผมไปฟังที่ครูละเมียดดีดบันทึกแผ่นเสียงไว้และดีดให้ได้อย่างนั้น เมื่อตอนจะหัดดีดเพลงกรอก็ต้องไปฟังที่ครูดีดเขมรปี่แก้วทางสักวา รสมือของการดีดจะเข้ที่หนักแน่นแต่นุ่มนวลแบบครูละเมียดนี้นับวันจะหายากขึ้นและเป็นที่น่าเสียดายว่าไม่ค่อยมีเด็กรุ่นหลังสืบทอดแบบอย่างไว้ นอกจากนี้ท่านยังถือเป็นครูแบบอย่างในการสีซออู้ให้กับผมผ่านทางการแนะนำของครูเฉลิม ม่วงแพรศรี ครูของผมซึ่งท่านจะบอกให้ฟังและเลียนแบบการสีซออู้แบบครูละเมียด นอกเหนือไปจากแบบครูหลวงไพเราะเสียงซอที่มีผู้เรียนและเลียนกันบ่อยแล้ว รสมือในการเดี่ยวกราวในซออู้ของครูละเมียดนั้นมีความสง่าองอาจไม่เหมือนใครและเหมาะที่จะใช้ประกอบการแสดงโขนเป็นที่สุด จนถึงทุกวันนี้กลับไปฟังฝีมือการบรรเลงจะเข้และซออู้ของครูละเมียดครั้งใดก็จะมีความสุขและเหมือนได้ย้อนกลับไปในสมัยที่เริ่มหัดเริ่มดนตรีใหม่ทุกครั้ง
    ขอบคุณเรียบเรียงข้อมูล :
    ครูธัญพงศ์ ณ นคร
    ขอบคุณไฟล์ภาพยนตร์ :
    Movie Archive, University of South Carolina

ความคิดเห็น • 2

  • @user-ek6qd1fi6k
    @user-ek6qd1fi6k 2 ปีที่แล้ว +3

    ฉิ่ง น่าจะเป็น ครูสอน วงฆ้อง ครับ

  • @poppop9764
    @poppop9764 2 ปีที่แล้ว +3

    มีคลิปในกลุ่มปี 2473 เพิ่มอีกไหมครับ.. อบ บุญติด กับ นายทิ้ง