วงมโหรีเครื่องใหญ่ อุศเรน เถา [มรภ.บ้านสมเด็จฯ]

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 18 ก.ย. 2022
  • ความสำคัญของ ‘ผู้ปรับวง’ ทำหน้าที่อะไร ปรับอะไรแล้วปรับอย่างไร ถอดบทเรียนประสบการณ์ความรู้ปรับวงของ ‘สุรพงษ์ บ้านไกรทอง’ กรณีวงมโหรีเครื่องใหญ่ เพลงอุศเรน เถา ผลงานประพันธ์ครูอุทัย แก้วละเอียด [ศิลปินแห่งชาติ] ที่เจ้าตัวเกริ่นคีย์เวิร์ด [Keyword] ‘ศิลปะต้องสร้างให้คนรู้สึกได้’
    ก่อนจะสร้าง ‘ศิลปะ’ ให้คนรู้สึกได้ สุรพงษ์มอง ‘ศิลปิน’ ที่ในที่นี้หมายถึงผู้เล่นรวมวงดนตรีไทยต้องผ่านด่าน 4 ขั้น ก่อนจะเดินทางข้ามไปถึงจุดสูงสุดปลียอดความงามของการปรับวง นั่นคือต้องร่วมใจถ่ายทอดอารมณ์เพลง ที่เจ้าตัวแจกแจงตามลำดับ ขั้นแรกคือตีจบเพลง ขั้นสองแม่นยำเป็นธรรมชาติ ขั้นสามตีเป็นสรรพรส ขั้นสี่ตีดีมีคนชม ขั้นห้าขับถึงอารมณ์เพลง
    “ลำบากมากที่จะทำให้คนทั้งวง 24 คน รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถึงได้คำตอบว่าทำไมครูโบราณต้องให้กิน ให้อยู่ ให้นอน ให้เห็นกิริยาอาการว่าครูกินอย่างไร นั่งอย่างไร รู้สึกนึกคิดอย่างไร เหมือนที่ครูพิชิต ชัยเสรี พูด ‘สปิริตทูสปิริต’ [Spirit to spirit] จากจิตวิญญาณถึงจิตวิญญาณ”
    นัยยะสำคัญหนึ่ง เพราะผู้ปรับวงคือคนผสานเกลียวความคิดถ่ายทอดสู่ผู้เล่นตามเจตจำนงจินตนาการผู้ประพันธ์ นอกจากทำการบ้านศึกษาเก็บข้อมูล ถามไถ่แนวคิดหลักการและสิ่งที่ซ่อนเร้นในเพลงนั้นๆ สุรพงษ์ยังปรับวงโดยตีความจากตัวดนตรี ที่เขาอาศัยประสบการณ์เคยร่วมงานกับหม่อมน้อย [หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล] หรือกับคุณตั๊ว [ประดิษฐ์ ประสาททอง] ใช้หลักคิดวิธีตีความอารมณ์ตัวละครส่องทางมาถึงวิธีทำงานดนตรีของเขาด้วย
    ขับจุดเน้นเพลงอุศเรน เถา โดยเฉพาะที่ควรต้องตั้งใจฟังรายละเอียด คือ 2 ชั้น ท่อนที่ 1 เป็นโจทย์ท้าทายที่ทำอย่างไรให้ทำนองคุ้นหูเป็นที่รู้จักดี อย่าง ‘มาร์ชชิ่งทูจอร์เจีย’ มีอารมณ์สอดคล้องกับบทร้องและชนิดวงดนตรีอย่างมโหรีเครื่องใหญ่ ที่เจ้าตัวเปรียบว่าไม่ต่าง ‘ตัวละครที่มีคาแรคเตอร์ [Character] ต่างกัน’
    เขาอธิบายเพิ่ม “ตรงนี้แหละที่ทำให้คิดว่า สองชั้นท่อนหนึ่งเที่ยวแรกควรทำเป็นทางเรียบๆ เล่นพร้อมกัน ใส่เสียงประสานอย่างดนตรีไทยเข้าไป เหมือนเราตีฆ้องคู่ประสาน ทีนี้สีสันของเสียงเครื่องดนตรีในวงมโหรีมันมีมากกว่าปี่พาทย์ ถ้าเล่นเหมือนกันทั้งวงก็ไม่ต่างระบำที่ยกแขนขาพร้อมกัน แต่ถ้าจะให้เด่น เช่นต้องการให้พระเอกมีบทพูดกลางเวที เราก็ต้องฉายไฟไปที่ตัวละคร
    “ข้อนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เที่ยวสองท่อนหนึ่งลำดับให้ซอด้วงเล่นก่อน ตามด้วยจะเข้ ซออู้ ซอสามสาย โดยมีพื้นหลังเก็บความเป็นครูอุทัย แก้วละเอียด เอาไว้ คือให้ระนาดเดินกลอนทำนองเก็บอย่างเดียว ตรงนี้ตีความจากบทร้อง ‘พลังรวมใหญ่หลวงปวงประชา’ คือไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหน แต่ถ้าร่วมมือร่วมใจ สุดท้ายแล้วพลังเล็กๆ จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่”
    ลึกเข้าไปกว่านั้นในแง่หลักการปรับวง ระดับความยากง่ายขึ้นอยู่กับจำนวนและชนิดเครื่องดนตรี เพราะนอกจากต้องปรับรสมือผู้เล่นให้เสมอกันอย่างกลมกลึงพิถีพิถัน ปรับแนวจังหวะให้เหมาะกับบุคลิกเพลงและชนิดวงดนตรี [ข้อนี้เป็นโจทย์ไม่ง่าย เพราะในขณะที่อุศเรนเป็นเพลงที่เล่นช้าไม่ได้ แต่วงมโหรีก็เป็นวงที่ไม่ควรเล่นเร็วด้วยเช่นเดียวกัน]
    ความยากคือผสมเสียงและทำทางเครื่องดนตรีอย่างไร ให้วงมโหรีเครื่องใหญ่เปล่งเสียงนุ่มเพราะ ยืนอยู่บนเส้นความพอดี ไม่เรียบไม่หวือหวาเป็น ‘เอ็ดตะโรโฟนี’ เกินงาม ผู้ฟังได้ยินเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้น ที่เจ้าตัวใช้วิธีทำทางเครื่องดนตรีแบบอ้างอิงสอดประสาน ระหว่างกลุ่มเสียงสูง [ซอด้วง จะเข้ ระนาดเอก] กับเสียงต่ำ [ซออู้ ฆ้องวง ระนาดทุ้ม] รวมถึงกลุ่มเสียงซอสามสายกับขลุ่ย ใช้ความคิดวางแผนทิศทางทำนองผูกพันโยงใยที่เขาว่าไม่ต่างใยแมงมุม
    เบื้องหลังปรับวงเพลงอุศเรน เถา ในนาม ว.การดนตรี มรภ.บ้านสมเด็จฯ ยังมีขุนพลอีกสองท่านที่กำกับดูแลเครื่องปี่พาทย์มโหรี หนึ่งคือ ‘ธนาธิป เผ่าพันธุ์’ กับสอง ‘วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์’ ที่สุรพงษ์เผยเคล็ดไม่ลับวิชาปรับวงต่อไปอีกว่า ปรับวงเพลงใดเพลงหนึ่ง เมื่อได้ทางฆ้องทำนองหลักแล้ว ต้องตั้งหลักเรียบเรียงทางเครื่องสายให้เสร็จเป็นวงก่อน แล้วค่อยทำทางเครื่องตีปี่พาทย์เข้าสวม
    เอาเข้าจริงวิชาปรับวงดนตรีไทยเป็นวิชาการจัดการ [Management] นอกจากบริหารจัดการเสียง ทำนองเพลง ทักษะผู้บรรเลง ยังครอบคลุมดูแลกำลังคน งบประมาณ อาหาร ตารางวันเวลาซ้อม การเดินทาง เครื่องแต่งกาย จิปาถะ ที่ครูพัฒน์ บัวทั่ง เคยบอกกับสุรพงษ์ว่า ‘วิชาปรับวงไม่ต่างวิชาโต้โผ’ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นทั้ง ‘พ่อครัว’ และ ‘พ่อบ้าน’ ในคนคนเดียวกัน
    โดยเฉพาะจัดสรรเครื่องดนตรีคุณภาพเสียงดี ที่เขาเผยให้ฟังก่อนจบบทสนทนาว่า แนวเสียงเครื่องปี่พาทย์มโหรีที่จะได้ฟังต่อไปนี้ เป็นแนวเสียงที่ถูกเทียบขึ้นใหม่ให้แนบเข้าไปกับเสียงเครื่องสายกับขับร้อง ไม่ใช่แนวเจ็ดเสียงเท่าของดนตรีไทย [ในอุดมคติ] และไม่ใช่แนวบันไดเสียงตะวันตก แต่ขยายและลดความกว้างช่วงเสียงบางเสียง เช่น โด ที่กระเบียดต่ำกว่าเสียงดนตรีไทยปกติ
    สุรพงษ์กล่าวปิดท้าย “ปรับวงดนตรีไทย จริงๆ แล้วคือการเรียบเรียงเพลงจากวัตถุดิบเดิม นี่เป็นข้อข้อหนึ่งที่เราต้องให้เกียรติผู้ประพันธ์ คือยืนอยู่บนฐานข้อมูล ข้อมูลที่ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ขอบเขตสามเส้าที่ควรยึดคือ เพลงเพลงนี้คืออะไร วงวงนี้คือวงอะไร แล้วเล่นให้ใครฟัง กาลเทศะเหมาะควรไหมที่เราจะทำอะไรลงไป
    [พิชชาณัฐ ตู้จินดา สัมภาษณ์และเรียบเรียง เมื่อ 6 กันยายน 65 ]
    เพลงอุศเรน เถา วงมโหรีเครื่องใหญ่ โดยภาควิชาดนตรีไทย วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
    เรียบเรียงทางร้อง ครูเลี่ยมลักษณ์ สังจุ้ย ครูสิงหล สังจุ้ย ครูพัฒนี พร้อมสมบัติ ที่ปรึกษาเรื่องแนวเสียงสำหรับวงมโหรี แนวทางประสานเสียง ครูวรยศ ศุขสายชล ครูกิตติมา ศุขสายชล ที่ปรึกษาดนตรี ครูอาทร ธนวัฒน์ ครูวัชระ เปรมปรีดิ์ ครูปริญญา แก้วละเอียด บอกทำนองหลัก
    ผู้ควบคุมวง รศ.ดร.สุพัตรา วิไลลักษณ์ ผศ.ธนาธิป เผ่าพันธุ์ ผศ.ตั้งปณิธาน อารีย์ ผศ.ดร.วงศ์วสันต์ วสันตสุรีย์ ผศ.ดร.สุรพงษ์ บ้านไกรทอง
    [บันทึกเสียง สิทธิโชค บุญรอด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 65]
  • เพลง

ความคิดเห็น • 8

  • @user-xi3ke7zl4y
    @user-xi3ke7zl4y ปีที่แล้ว +2

    ชอบครับเรียบเรียงเสียงผสานได้สมมาส
    มากครับฟังไพเราะจริงๆ

  • @galaxy1488
    @galaxy1488 ปีที่แล้ว +2

    น่าจะเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ชอบฟังวงมโหรีเพราะชอบเสียงจระเข้มาก นักร้องร้องดี เสียงดี สรุป งานแจ่มครับ👍👍👍👍👍

  • @wacharapoolpirom8091
    @wacharapoolpirom8091 ปีที่แล้ว +3

    ไพเราะมากๆครับ

  • @user-fp7qf2sx1t
    @user-fp7qf2sx1t ปีที่แล้ว +2

    เพราะมาก เพลงนี้ไม่ค่อยได้ยิน .ดีจังที่นำมาเล่น

  • @halosps1009
    @halosps1009 ปีที่แล้ว +2

    เพราะดีค่ะ

  • @user-tr3vd6nx8t
    @user-tr3vd6nx8t 4 หลายเดือนก่อน

    ไพเราะมากครับ👍👍

  • @user-ranrarin204nvarukb
    @user-ranrarin204nvarukb 9 หลายเดือนก่อน

    สุดยอด

  • @chaituchkeng5606
    @chaituchkeng5606 6 หลายเดือนก่อน

    ไพเราะทำนองแปลกดี