ทยอยเขมร เถา : วงมหาดุริยางค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๔๕

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 27 ธ.ค. 2022
  • การบรรเลงวงเดี่ยวสถาบัน เพลงทยอยเขมร เถา วงมหาดุริยางค์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร รวมนักดนตรีบรรเลงมากกว่า ๑๓๐ คน ในงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ ๔๕ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๕
    ประวัติเพลงทยอยเขมร
    เพลงทยอยเขมร สองชั้น ของเดิมบรรเลงรวมอยู่ในเพลงเรื่องทยอย ครูมนตรี ตราโมทและครูวิเชียร กุลตัณฑ์ ได้กล่าวถึงประวัติของเพลงนี้ไว้ในหนังสื่อชื่อ "ฟังและเข้าใจเพลงไทย" ว่า
    " เพลงทยอยเขมร อัตรา ๒ ชั้น เป็นเพลงไทยที่มีมาแต่โบราณ บรรเลงรวมอยู่ในเพลงเรื่องทยอย ในบางโอกาสก็แยกออกมาใช้เป็นเพลงร้องประกอบการแสดงโขนละคอน เพลงทยอยเขมร ๒ ชั้นนี้ มีทำนองและสำเนียงแสดงถึงอารมณ์โศกสลด เพราะฉะนั้น ทั้งในการบรรเลงดนตรีและขับรอ้งประกอบการแสดงโขนละคอน จึงใช้ในเวลาที่เป็นการแสดงอาการโศกเศร้ารำพึงรำพันในขณะเดินทาง และยังใช้กันมาจนปัจจุบันนี้
    เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ ครูแตง ผู้มีฝีมือในทางเป่าปี่ผู้หนึ่ง จนได้สมญาว่า ครูแตงปี่ ได้นำเองเพลงทยอยเขมร ๒ ชั้นนั้น มาแต่งขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น การแต่งขยายขึ้นมาเป็น ๓ ชั้นนี้ ทำนองร้องยังคงแสดงอารมณ์โศกอยู่เช่นเดียวกับในอัตรา ๒ ชั้น แต่ทำนองดนตรีนั้น เนื่องจากเพลงทยอยเขมรเป็นเพลงที่มี “โยน” ผู้แต่งสามารถพลิกแพลงได้มาก ท่านผู้แต่งจึงได้สอดแทรกเม็ดพลายต่าง ๆ ตลอดจนลูกล้อลูกขัดไว้อย่างพริ้งเพรา ซึ่งเป็นการแสดงออกในวิชาการค้นกว้างขวางทางดุริยางคศิลปอย่างหนึ่ง จึงทำให้สำเนียงที่แสดงอารมณ์โศกจมหายไปบ้าง เพลงทยอยเขมร ๓ ชั้น ที่ครูแตงได้แต่งขึ้นนี้ แต่งเป็น ๒ เที่ยว โดยเปลี่ยนทำนองมิให้ซ้ำกัน ซึ่งได้รับความนิยมในวงการดนตรีอย่างกว้างขวาง
    ต่อมาอีกเล็กน้อย พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร หรือครูมีแขก) คงจะพิจารณาเห็นว่า เพลงทยอยเขมร ๓ ชั้น ซึ่งครูแตงได้แต่งขึ้นนั้น เป็นเพลงที่ไพเราะน่าฟังเพลงหนึ่งที่ควรสนับสนุน หากแต่เที่ยวหลังซึ่งเป็นเที่ยวที่เปลี่ยนทำนองนั้น ยังใกล้เคียงกับทำนองของเที่ยวแรกมากไปหน่อย จึงได้คิดแต่งเพลงทยอยเขมร ๓ ชั้นเพิ่มขึ้นอีก ๑ เที่ยวสำหรับบรรเลงเป็นเที่ยวกลับ แทนเที่ยวกลับอย่างเดิมของครูแตง และเพิ่มเติมเที่ยวแรกของครูแตงขึ้นอีกเล็กน้อยตรงลูกล้อที่ ๒ การบรรเลงเพลงทยอยเขมร ๓ ชั้นตามแบบนี้ จึงเป็นการบรรเลงด้วยทางของครูแตง (เพิ่มเติมลูกล้อนิดหน่อย) เป็นเที่ยวแรก และบรรเลงด้วยทางของพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) เป็นเที่ยวหลัง ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการดนตรีอีกแบบหนึ่ง
    การบรรเลงในสมัยต่อจากนั้น บรรเลงกันอยู่ทั้ง ๒ อย่าง คือ บรรเลงตามทางของครูแตงทั้ง ๒ เที่ยว อย่างหนึ่ง กับบรรเลงเที่ยวแรกเป็นทางของครูแตงและเที่ยวหลังเป็นทางของพระประดิษฐ์ไพเราะอีกอย่างหนึ่ง แต่โดยมากวงเครื่องสายมักบรรเลงตามทางของครูแตงทั้ง ๒ เที่ยว และวงปี่พาทย์บรรเลงทางครูแตงเป็นเที่ยวแรก ทางพระประดิษฐ์ไพเราะเป็นเที่ยวหลัง เพราะว่าลูกล้อที่ ๒ ในเที่ยวแรกที่พระประดิษฐ์ไพเราะเพิ่มเติมขึ้นก็ดี ทำนองในเที่ยวหลังของพระประดิษฐ์ไพเราะก็ดี เป็นทำนองที่ต้องใช้เขตเสียงกว้าง เหมาะแต่กับการบรรเลงด้วยเครื่องปี่พาทย์ หากบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสาย ก็จะต้องหลบเสียงบ่อย ๆ ทำให้ขาดความไพเราะไป มาในสมัยปัจจุบัน ทั้งวงเครื่องสายและวงปี่พาทย์มักจะชอบบรรเลงอย่างหลัง (ทางครูแตงเที่ยวแรก ทางพระประดิษฐ์ ฯ เที่ยวหลัง) กันทั้งนั้น เพราะว่าไพเราะโลดโผนกว่า "
    ซึ่งต่อมาหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ตัดลงเป็นสองชั้นและชั้นเดียวครบเป็นเพลงเถาทางหนึ่ง
    บทร้องเพลงทยอยเขมร เถา
    ว่าแล้วก็พากันคลาไคล ดำเนินในแนวป่าพนาศรี
    บุหลันทรงกลดหมดราคี เหมือนจะเตือนให้พี่ลีลาไป
    ลมหวนอวลกลิ่นบุหงา หอมตลบอบมาในป่าใหญ่
    เหมือนเมื่ออยู่ในถ้ำอำไพ รวยระรื่นชื่นใจด้วยมาลา
    คิดพลางทางทรงกันแสงร่ำ ชะรอยกรรมทำไว้เป็นหนักหนา
    เดิมพลัดกำจัดจากพารา มาอยู่คูหาค่อยคลายใจ
    (บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒)
    วิดีโอนี้บันทึกจากเพจเฟซบุ๊ค สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
    ฝึกซ้อมและควบคุมการบรรเลงโดย
    ผศ.ดร.วีระ พันธุ์เสือ
    ผศ.ดร.เทพิกา รอดสการ
    ผศ.ดร.สุรศักดิ์ จำนงค์สาร
    ผศ.ดร.เมธี พันธุ์วราทร
    อ.ดร.พงศพิชญ์ แก้วกุลธร
    อ.อาทร ธนวัฒน์

ความคิดเห็น • 2

  • @Iwasbornin_
    @Iwasbornin_ ปีที่แล้ว +2

    โอ้วว สุดยอดเลยครับ ปกติจะได้ยินจากวงมโหรี,มหาดุริยางค์ จบแค่ 3ชั้นเท่านั้น ✌👍👏