AP LAW 55 "ฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อนคืออะไร"

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 4 ม.ค. 2024
  • AP LAW 55 "ฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อนคืออะไร"
    การฟ้องซ้ำคือ การที่คู่ความนำคดีที่ศาลพิพากษาชี้ขาดและคดีถึงที่สุดแล้วมาฟ้องใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่วางหลักว่า “คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน” โดยจะมีหลักเกณฑ์ ได้แก่
    .
    1. คดีที่คู่ความเป็นคนเดียวกัน โดยคู่ความที่เป็นคนเดียวกันนั้น เป็นได้หลายกรณี เช่น กรณีผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ คดีโจทก์คนละคนที่อาศัยสิทธิเดียวกันมาฟ้องจำเลย ทายาทฟ้องเรียกทรัพย์สินจากผู้อื่น ทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกให้รับผิดเกี่ยวกับการจัดการมรดก ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์พิพาทจากเจ้าของเดิม หน่วยงานราชการตามลำดับการบังคับบัญชาเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีเดียวกัน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่ โจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยคนเดียวกันในคนละฐานะ หรือโจทก์ฟ้องบุคคลอื่นแล้วจำเลยคดีก่อนจะร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้ จะไม่ถือว่าเป็นคู่ความคนเดียวกัน
    .
    2. ทั้งสองคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เช่น ประเด็นที่ฟ้องคดีแรกและคดีหลังเป็นประเด็นเดียวกัน โจทก์ฟ้องคดีใหม่เพื่อเรียกเอาส่วนที่ยังบกพร่องไปเนื่องจากคำขอขาดตกบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ และการฟ้องซ้ำบางข้อหาในกรณีโจทก์ฟ้องจำเลยในหลายข้อหาก็ได้ หากโจทก์จำเลยอ้างสิทธิคนละอย่างกัน จะไม่ถือว่าเป็นประเด็นต้องวินิจฉันอย่างเดียวกัน
    .
    3. คดีก่อนศาลได้วินิจฉัยในประเด็นนั้นแล้ว การวินิจฉัยประเด็นในคดีนั้น จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) ที่วางหลักว่าศาลวินิจฉัยคดีได้โดยทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือจำหน่ายคดีจากสารบบความ รวมถึงการยกฟ้องที่มีการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีแล้ว คดีที่ศาลยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดพิจารณา การชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย การพิพากษาตามยอม การวินิจฉัยตามที่คู่ความท้ากัน จะถือเป็นฟ้องซ้ำ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในเรื่องนั้น เนื่องจากเหตุตามมาตรา 132 จะไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำ
    .
    โดยการฟ้องซ้ำนั้น คดีจะต้องถึงที่สุดแล้ว ซึ่งจะถึงที่สุดในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ก็ได้ ต้องถือตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดว่ามีการวินิจฉัยประเด็นที่คู่ความสู้กันมาหรือไม่ หากกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีแล้ว แต่ถ้าศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นในคดีและคำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์ฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
    .
    โดยกรณีที่ไม่เป็นฟ้องซ้ำนั้นก็จะมีข้อยกเว้นในมาตรา 148 ได้แก่
    1. กระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดี เนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้ว
    2. ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งที่กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ในบังคับที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้
    3. ศาลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ได้
    .
    โดยผลของการฟ้องซ้ำนั้น คือศาลจะไม่สามารถรับคำฟ้องในคดีหลังไว้พิจารณาได้ เนื่องจากต้องห้ามตามกฎหมาย และเนื่องจากการฟ้องซ้ำเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อย ศาลจึงมีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดร้องขอ
    .
    ในส่วนของการฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 นั้นจะมีหลักเกณฑ์คล้ายคลึงกับการฟ้องซ้ำ แต่จะต่างกันตรงที่การฟ้องซ้ำนั้นคดีแรกต้องถึงที่สุดแล้ว ส่วนการฟ้องซ้อนนั้นคดีแรกต้องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล แต่ทั้งการฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนนั้นจะมีผลเหมือนกัน คือต้องห้ามนำคดีหลังมาฟ้องตามกฎหมาย และศาลจะไม่มีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณา
    .
    กล่าวโดย สรุป การฟ้องซ้ำ คือการฟ้องคดีที่ถึงที่สุดไปแล้ว โดยคู่ความคนเดียวกัน ประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวกัน ทำให้ศาลไม่สามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ และการฟ้องซ้อน คือการฟ้องคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยคู่ความคนเดียวกัน ประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวกัน ทำให้ศาลไม่สามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้
    เนื้อหาโดย
    กิตตินันท์ จารุกิจไพศาล
    Paralegal
    น.บ. (ธรรมศาสตร์)

ความคิดเห็น •