กฟผ. แม่เมาะ พร้อมด้วย 4 สถาบันการศึกษาลงนาม MOU เรื่องความร่วมมือทางวิชาการด้านการเหมืองแร่

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 20 มิ.ย. 2023
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ดำเนินภารกิจหลักในการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ยืนยันได้จากการรับรองระบบมาตรฐาน ทั้ง ISO 9001: 2015 ด้านระบบบริหารงานคุณภาพ , ISO 14001:2015 ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม , ISO 26000&CSR ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และ BS OHSAS 18001 : 2007 ด้านการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ขณะเดียวกัน ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบทั้งการส่งเสริมด้านการศึกษา , อาชีพ และเศรษฐกิจ เพื่อให้อำเภอแม่เมาะ ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
    .
    นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2470 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลถึงความต้องการใช้พลังงานของประเทศ จึงมีพระบรมราชโองการให้สำรวจและสงวน แหล่งถ่านหินไว้เพื่อใช้ในทางราชการ จวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 96 ปีแล้วที่ถ่านหินลิกไนต์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ จนทำให้ “เหมืองแม่เมาะ” แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นเหมืองลิกไนต์เปิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาเนย์
    .
    เหมืองแม่เมาะ ได้มุ่งมั่น ทุ่มเทแรงกาย แรงใจในการผลิต และส่งถ่านหินให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปีละกว่า 14 ล้านตัน อย่างเพียงพอ มั่นคง มีคุณภาพ ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสร้างความสุขให้คนไทย และยังได้สรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในและต่างประเทศ นำอุปกรณ์ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำงาน
    .
    จากความมุ่งมั่นในการดำเนินงานทำให้เหมืองแม่เมาะได้รับรางวัล อาทิเช่น รางวัล EIA Monitoring Awards รางวัลเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Award) และรางวัลสถานประกอบการเครือข่ายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM Continuous Award) รางวัล Thailand Coal Award และรางวัล Asean Energy Award เป็นต้น ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันถึงความทุ่มเทในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพแสดงให้เห็นว่าเหมืองแม่เมาะ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
    .
    ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้พัฒนางานทางด้านเหมืองแร่ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนโดยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านเหมืองแร่ของประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งแรกในปี 2552 และครั้งที่ 2 ในปี 2557
    .
    ต่อมาในปี 2561 ยังได้ร่วมต้อนรับสมาชิกใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่มาร่วมกันประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทางการศึกษาและวิจัยด้านเหมืองแร่ รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพให้เหมืองแม่เมาะเป็นศูนย์กลางการศึกษา วิจัย อบรม และเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับประเทศและระดับสากล ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือทางวิชาการด้านเหมืองแร่ ต่อเนื่องเป็นฉบับที่ 3 โดยแต่ละฉบับมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี
    .
    ตลอดระยะเวลาของความร่วมมือเกิดผลประจักษ์ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมค่ายวิชาการ เหมืองแร่ (mining camp) ที่จัดขึ้นต่อเนื่องปีละ 1 ครั้ง , งานวิจัยและโครงงานถูกนำไปใช้งานจริง ทั้งเรื่องการเจาะระเบิด , การหาพารามิเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับเหมืองแม่เมาะ , การทำลายโครงสร้างชั้นดินด้วยการเจาะระเบิด , การหาเทคนิคลดแรงสั่นสะเทือนในการระเบิดพื้นที่ใกล้ชุมชน , การศึกษาการใช้ RFID ในการควบคุมคุณภาพถ่าน , การศึกษาการใช้ UAV ในการสำรวจรังวัด รวมถึงงานด้านวิศวกรรมธรณี และงานด้านสิ่งแวดล้อม
    .
    ความร่วมมือในการพัฒนางานทางด้านเหมืองแร่ยังถูกยกระดับให้ก้าวเข้าสู่สากลด้วยการจัดการประชุมเชิงวิชาการทางด้านเหมืองแร่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ Coal Mining and Utilization for Sustainable Development International Conference หรือ CM&USD 2017 เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการระดับนานาชาติกว่า 40 เรื่อง รวมถึงการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงถ่านหินจากในและต่างประเทศ
    .
    เจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันในการพัฒนางานทางด้านเหมืองแร่ยังคงดำเนินไป อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้ง 5 หน่วยงานจึงมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือทางวิชาการด้านเหมืองแร่ ต่อเนื่องเป็นฉบับที่ 4 ในวันนี้

ความคิดเห็น •