เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา

แชร์
ฝัง
  • เผยแพร่เมื่อ 1 ต.ค. 2024
  • เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา
    ในบรรดานักร้อง นักดนตรีไทยทั้งปวง ไม่มีผู้ใดที่จะไม่รู้จักเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เป็นเพลงที่ไพเราะ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่นักร้อง นักดนตรี และบรรดาท่านผู้ฟังทั่วไป
    อาจมีบางท่านสงสัยบ้างก็ได้ในเรื่องชื่อของเพลงที่มีชื่อบอกภาษาถึง ๒ ภาษา คือ “แขกมอญ”เพลงที่มีชื่อว่าแขกมอญมีอยู่ด้วยกัน ๓ เพลง คือ เพลงแขกมอญ เพลงแขกมอญบางช้าง และเพลงแขกมอญบางขุนพรหม ในสมัยโบราณ นักดนตรีปี่พาทย์ได้เรียกเพลงจำพวกสองไม้และเพลงเร็วที่บรรเลงต่อจากเพลงช้าว่า “แขก” ทั้งนั้น เพราะหน้าทับที่ตะโพนตี ทั้งที่เป็นสองไม้และเพลงเร็วคล้ายการตีกลองของแขกจริงๆ เพลงแขกเหล่านี้ ถ้าไม่รู้จักชื่อก็ใช้เรียกว่าแขก เช่น เพลงที่ต่อท้ายเพลงพระรามเดินดง ก็เรียกแขกพระรามเดินดง ออกต่อท้ายเพลงมอญแปลงก็เรียกว่า แขกมอญแปลง ส่วนเพลงแขกมอญที่กล่าวนี้ เป็นเพลงเร็วของเพลงใดเพลงหนึ่ง และก็คงจะมีสำเนียงมอญ ครั้นต่อมา นิยมการแต่งเพลงโดยขยายจากอัตราเดิมขึ้นไปอีกเท่าตัว ผู้แต่งได้นำเพลงนั้นมาแต่งขึ้น จึงเรียกว่าเพลงแขกมอญตามเดิม
    ภายหลังครูดนตรีทางจังหวัดสมุทรสงคราม คิดแต่งเพลงขึ้นเพลงหนึ่งมี ๓ ท่อน ทำนองขึ้นต้นของท่อน ๒ เหมือนกับเพลงแขกมอญของเก่าที่กล่าวมา จึงได้ตั้งชื่อว่า “แขกมอญบางช้าง” เพราะบางช้างเป็นชื่อตำบลสำคัญที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรสงคราม จะเป็นตำบลใดก็ตาม ก็มักจะเรียกว่าของบางช้างทั้งนั้น มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงนำเอาทำนองเพลงมอญของเก่าเพลงหนึ่ง ซึ่งมีอัตรา ๒ ชั้น ไม่ทราบว่าชื่อเพลงอะไร มาทรงแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้นและตัดลงเป็นชั้นเดียว เพื่อให้ใช้บรรเลงติดต่อกันได้ครบเป็นเพลงเถา ประทานชื่อว่า “แขกมอญบางขุนพรหม” ตามชื่อตำบลซึ่งวังที่ประทับของพระองค์ท่านตั้งอยู่ นับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้น ดังที่นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ผู้เคยอยู่ใกล้ชิดในวงการดนตรีของสมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตผู้หนึ่ง ได้เขียนไว้ในหนังสือพระประวัติและจริยาวัตรของจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
    “เพลงแขกมอญบางขุนพรหม” เพลงนี้เป็นเพลงแรกเริ่มทรงพระนิพนธ์เพลงไทยขึ้น โดยนำเพลงมอญ ๒ ชั้นของเก่ามาดัดแปลงขึ้นให้เป็นเพลง ๓ ชั้นและชั้นเดียว พร้อมด้วยทางขับร้องทั้งหมด ทรงตั้งพระทัยให้เป็นเพลงในพระนามโดยเฉพาะ ต่อมาได้มีผู้ได้ยินได้ฟังเกิดความนิยมในพระปัญญาปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน จึงได้นำมาเล่นเครื่องสายและดนตรีกันจนแพร่หลายทั่วไปจนทุกวันนี้ แต่ก็ไม่เหมือนของเดิมที่ทรงไว้แท้จริง ทั้งทางร้องและทางรับ เมื่อครั้งแรกเป็นทางให้แตรวงทหารเรือบรรเลงเป็นโน้ตสากล เหตุด้วยท่อน ๓ ใน ๓ ชั้น ไม่ได้ทรงไว้อย่างที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่ในทุกวันนี้ เป็นทางและทำนองยืดยาว ครั้งต่อมาได้ทรงปรับปรุงให้เป็นทางพิณพาทย์สำหรับวงวังบางขุนพรหมบรรเลงเพลงถวายในเวลาว่างพระธุระ เพลงนี้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดเพชรบุรี เมื่อ ร.ศ. ๑๒๙ อันมีพันตรีหลวงประสานดุริยางค์ (สุทธ ศรีชยา) ได้โดยเสด็จด้วย และให้เป็นคนเป่าแตรคอร์แน็ตในเวลาทรงพระนิพนธ์เพื่อตรวจสอบเพลงให้ถูกต้อง ฉะนั้นเพลงนี้จึงได้ทรงขนานนามไว้ว่า “เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา” ซึ่งทุกท่านย่อมได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ
    เพลงแขกมอญบางขุนพรหม ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ฯ ทรงพระนิพนธ์และทรงขนานนามให้อยู่ในจำพวกแขกมอญนั้น เห็นได้ว่าทรงพระปรีชาในทางดุริยางคศิลปอย่างลึกซึ้งเพราะเพลงแขกมอญเก่านั้น มีลักษณะเป็นเพลง ๓ ท่อนมีสำเนียงเป็นมอญ และในจังหวะสุดท้ายของแต่ละท่อน มีทำนองซ้ำกันทุกท่อน เพลงแขกมอญบางขุนพรหมก็มีลักษณะอันนี้ครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ จึงเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ทรงตั้งชื่อว่า เพลงแขกมอญบางขุนพรหม
    ที่มา : ฟังและเข้าใจเพลงไทย โดยมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย กรมศิลปากร และวิเชียร กุลตัณฑ์ (สำนักดนตรีไทยพระยาประสานดุริยศัพท์) (แปลก ประสานศัพท์)
    • เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา
    ทำนองหลัก เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา
    ผู้บรรเลงฆ้องวงใหญ่ นายวัชรากร บุญเพ็ง
    Facebook Page : ภาควิชาดุริยางคศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
    Facebook Page : คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
    TH-cam : ภาควิชาดุริยางคศิลป์ศึกษา คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

ความคิดเห็น • 2